ประวัติความเป็นมา
อปพร. เป็นอาสาสมัครที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งหน่วย อปพร. ขึ้นทุกอำเภอละเขตในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนภาคราชการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมิได้หวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นผู้เสียสละทั้งเวลาและกำลังกาย มีการฝึกอบรมตั้งแต่ปี 2531 ถึงปัจจุบัน มี อปพร. แล้ว 981,520 คน (ณ 31 ก.ย. 2550) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายให้มีจำนวน 1 ล้านคน หรือ 2% ของประชากรในแต่ละพื้นที่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ อปพร. มีบทบาทภารกิจหน้าที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2475
ซึ่งกำหนดไว้ให้มีองค์กรดูแล รับผิดชอบ ดังนี้
- คณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์ อปพร. กลาง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นกรรมการและเลขานุการ
- ศูนย์ อปพร. กลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์ อปพร. กลาง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. กลาง และมีผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 12 เขต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เขต
- ศูนย์ อปพร. จังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. จังหวัด
- ศูนย์ อปพร. เขตในกรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. กรุงเทพมหานคร และศูนย์ อปพร. เขตในกรุงเทพมหานคร โดยผู้อำนวยการเขต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เขตในกรุงเทพมหานคร
- ศูนย์ อปพร. อำเภอ โดยนายอำเภอ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. อำเภอ
- ศูนย์ อปพร. เทศบาล โดยนายกเทศมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เทศบาล
- ศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล
- ศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา โดยนายกเมืองพัทยา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เมืองพัทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะศูนย์ อปพร. กลางได้พิจารณาเห็นว่า การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งของสมาชิก อปพร. จะส่งผลต่อศักยภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของส่วนราชการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานหลักในการเผชิญเหตุและป้องกันแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ จำเป็นจะต้องมีแนวทางบริหารกิจการศูนย์ อปพร. ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้อาสาสมัครเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
อำนาจหน้าที่ของ อปพร.
- ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบณ์ภัยในพื้นที่
- รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่
- สงเคราะห์ผู้ประสบภัย