1 แนวทางการป้องกันและแก้ไขอุบัติภัยในโรงเรียน
การป้องกันและแก้ไขอุบัติภัยในโรงเรียนให้บรรลุผลหรือประสบผลได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องคำนึงถึงหลักความปลอดภัย ซึ่งต้องเกิดมาจากองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับบุคคล (ผู้ที่อยู่ในโรงเรียนทั้งหมด) องค์ประกอบของสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการบริหารงานด้านความปลอดภัยในโรงเรียน
1. องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับบุคคล มีแนวทางการป้องกันและแก้ไข ดังนี้
1) ผู้บริหารและครูในโรงเรียนต้องรู้จักวิธีการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อนักเรียนได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉิน ควรมีการปรับปรุงห้องปฐมพยาบาลและสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพ หากจำเป็นควรมีพยาบาลประจำโรงเรียน ถ้าหากไม่สามารถจัดหาพยาบาลประจำโรงเรียนได้ ครูที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับสุขภาพของนักเรียนต้องมีความรู้หรือผ่าน การอบรมเรื่องนี้มาโดยตรง
2) ทางโรงเรียนควรจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยให้กับนักเรียน
3) ครูในโรงเรียนต้องคอยสอดส่องดูแลในส่วนต่าง ๆ ของโรงเรียนหากเกิดเหตุใด ๆ ขึ้น จะได้แก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
4) ทางโรงเรียนควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยให้กับครู นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างปลอดภัย สร้างนิสัยระมัดระวัง และปลูกฝังการป้องกันภัย โดยสามารถบูรณาการเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากการจราจร อัคคีภัยและสารพิษต่าง ๆ เข้าไปในกิจกรรมการเรียนการสอน และมุ่งเน้นให้มีการฝึกปฏิบัติหรือกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในโรงเรียน
2. องค์ประกอบเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยภายในโรงเรียน มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1) การดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซมโครงสร้างอาคาร ห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ บันได และทางเดินให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ใช้งานได้ตามความเหมาะสม
2) เครื่องมือและอุปกรณ์ ต้องจัดเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
3) ควรจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ และมีการระบายอากาศที่ดีในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องพยาบาล และห้องต่าง ๆ ในอาคารเรียน
4) สนามโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นสนามเด็กเล่น สนามกีฬา และสนามหญ้า ต้องดูแลให้อยู่ในสภาพไม่ชำรุด ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ และไม่มีเศษวัสดุมีคม
5) สนามเด็กเล่น ต้องจัดสภาพพื้นที่สนามให้ปลอดภัย เช่น บ่อทรายควรมีความหนาอย่างน้อย 9-12 นิ้ว อุปกรณ์เครื่องเล่นต้องได้มาตรฐาน และติดตั้งได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ควรดูแลอุปกรณ์เครื่องเล่นให้ปลอดภัย และตรวจตราอยู่เสมอ หากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมแก้ไข
6) ติดตั้งป้ายประกาศเกี่ยวกับคำเตือนตามสถานที่ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อนักเรียน ดังตัวอย่างข้อความเตือนในป้ายประกาศ เช่น สนามลื่น บันไดชัน ลงช้า ๆ เดินชิดซ้าย เป็นต้น
3. องค์ประกอบเกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านความปลอดภัยภายในโรงเรียน มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
1) ควรมีการจัดระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัย โดยจัดวางสายไฟต่างๆ ให้เหมาะสม จัดให้มีระบบความปลอดภัย หากเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร โดยเฉพาะบริเวณตู้ทำน้ำเย็นต้องหมั่นตรวจสอบไม่ให้ชำรุดเสียหาย หากพบต้องดำเนินการแก้ไขทันที
2) มีการจัดให้มีระบบป้องกันอัคคีภัย มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพ และควรมีการจำลองสถานการณ์เพื่อฝึกซ้อมการหนีไฟ
3) มีการจัดบริการความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับโรงเรียน โดยมีหัวหน้ากลุ่มนำ การข้ามถนนควรมีครูเวร หรือตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกบริเวณหน้าโรงเรียน นอกจากนี้ในการให้บริการรถโรงเรียน ต้องจัดสถานที่จอดรถรับ-ส่งนักเรียน แยกเป็นสัดส่วนจากที่จอดรถของผู้ปกครองนักเรียน และที่สำคัญผู้ขับรถของโรงเรียนต้องผ่านการอบรมการขับขี่รถยนต์มาเป็นอย่าง ดี
4) จัดให้มีห้องปฐมพยาบาล หรือชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยต้องมีครูที่ผ่านการอบรมความรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
5) มีการจัดตั้งชมรมทางด้านการป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหากับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ตนจะต้องพบในชีวิตประจำวัน
6) มีการจัดตั้งกิจกรรมพิเศษที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน เช่น การนำนักเรียนออกช่วยดูแลการจราจรบนท้องถนน เรียนรู้วิธีปฏิบัติอย่างถูกต้อง
7) มีการจัดอบรมการเรียนการสอนที่เน้นการทำกิจกรรมให้มีความรอบคอบและปลอดภัย เช่น กิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ ครูต้องมีความชำนาญ รอบคอบ และแนะนำวิธีการทดลองที่ถูกต้องและปลอดภัย